เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ศูนย์วิจัยและพัฒนาไส้เดือนดิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการพิธีลงนามความร่วมมือภายใต้โครงการจัดการโรงขยะขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารระบบอินทรีย์ โดยการนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร กีรติการกุล รองอธิการบดีกล่าวต้อนรับและเปิดโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรพงษ์ เลิศทัศนีย์ ที่ปรึกษาโครงการเครือข่ายสวทช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายขวัญชัย สกุลทอง ผู้ประสานงานโครงการ ร่วมเป็นสักขีพยานอีกด้วย สำหรับการจัดพิธีความร่วมมือครั้งนี้นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช หัวหน้าโครงการเปิดเผยจากสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ปัญหาขยะมูลฝอยยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ แนวโน้มอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อคนต่อวันเพิ่มสูงขึ้นจาก 1.04 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปี 2553 เป็น 1.11 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปี 2557 สถานที่กำจัดขยะแบบถูกต้องตามหลักวิชาการมีเพียงร้อยละ 19 และการนำมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 18ทำให้มีปริมาณขยะสะสมตกค้างเพิ่มขึ้นถึง 19.9 ล้านตันในปี 2556 ของเสียอันตรายในปี 2557 มีประมาณ 2.69 ล้านตัน โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์แนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ในอนาคตอาจต้องประสบปัญหาการกำจัดซากของเสียเหล่านี้ หากภาครัฐไม่มีมาตรการหรือมีกฎหมายควบคุมการรีไซเคิลขยะอย่างครบวงจร ขณะที่การจัดการของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมสามารถจัดการได้ประมาณร้อยละ 70 โดยภาคอุตสาหกรรมมีการนำของเสียอันตรายกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่มากขึ้น แต่ยังพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนในการกำจัดสูง
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีองค์ความรู้และความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมีโรงปุ๋ยอินทรีย์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการบริหารจัดการขยะตามกรอบการพัฒนาดังกล่าว เพื่อเร่งกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดในเขตเทศบาลต่างๆ โดยการทำงานบูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการขยะ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จะใช้ส่งเสริมการผลิตพืชในระบบอินทรีย์อีกประการหนึ่ง ซึ่งโครงการนี้จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่ยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการสร้างจิตสำนึกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือนด้วยไส้เดือนดินให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดำเนินงานเป้าหมายต่อไป
สำหรับการลงนามความร่วมมือประกอบไปด้วยหน่วยงานเทศบาลและองค์การบริหารส่วนจังหวัด 14 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีกิจกรรมความร่วมในการ จัดสร้างโรงกำจัดขยะอินทรีย์ด้วยไส้เดือนดินขนาด 100 ตารางโดยทางเทศบาลลงทุนเองทางโครงการจะสนับสนุนวัสดุที่ใช้ในการเลี้ยง ได้แก่ สายพันธุ์ไส้เดือน มูลวัว และดินดำ นอกจากนั้นทางโครงการจะจัดฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของเทศบาล ประชาชน ผู้สนใจ ในหน่วยงานของเทศบาลเป้าหมายโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ แห่ง ๆ ละ 1 รอบ (100 คน) จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ จังหวัดเชียงใหม่